แบบไหนถึงจะเรียกว่า Introvert


        ไม่กี่ปีมานี้มีศัพท์ทางจิตวิทยาคำหนึ่งซึ่งแพร่หลายให้เราได้ยินมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือ อินโทรเวิร์ต (Introvert) อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่เมื่อได้ยินคำนี้ก็จะเข้าใจไปว่าเป็นอาการของคนชอบอยู่คนเดียว ไม่สุงสิงสังสรรค์ ทำตัวแปลกแยกจากคนหมู่มาก ไปจนถึงต่อต้านสังคม (Antisocial) หรือมักเศร้าหม่นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่ใช่ความจริงเสียทั้งหมด
        ประชากรโลกนี้มีจำนวนหลายพันล้าน ถึงจะเป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่ทุกคนล้วนแตกต่าง แม้แต่คนชาติพันธุ์เดียวกัน ภาษาเดียวกัน วัฒนธรรมเดียวกัน ก็ยังต่างกันไปในรายละเอียดของแต่ละปัจเจกบุคคล เพราะฉะนั้นการที่เราจะแบ่งมนุษย์ออกเป็น Introvert และ Extrovert แค่สองแบบนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ นี่จึงเป็นการแยกประเภทเพียงคร่าวๆ ให้เราเห็นภาพมนุษย์ที่มีลักษณะนิสัยพื้นฐานที่ต่างกันโดยแนวคิดทางจิตวิทยาอย่างหนึ่งเท่านั้น



Introvert คืออะไร
        เพื่อให้เข้าใจและเห็นภาพ ลองสมมติว่าเรากำลังอยู่ในงานวันเกิดเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งในงานมีใครต่อใครมากมาย ทั้งเพื่อน เพื่อนของเพื่อน และผู้คนใหม่ๆ มากหน้าหลายตาที่ต้องทักทาย ทำความรู้จัก พูดคุย ทุกคนต้องเปิดช่องทางในการรับรู้เยอะมาก คนที่เป็นExtrovert จะเอ็นจอยกิจกรรมเหล่านี้อย่างยิ่ง เพราะนั่นคือวิธีการชาร์จพลังของเขา การได้อยู่กับผู้คนทำให้เขามีพลัง เกิดการไหลเวียนของพลังงานจากคนอื่นมาสู่ตัวเขาและจากตัวเขาไปสู่คนอื่น นี่คือสิ่งที่เขาสนุก กลับถึงบ้านก็ยังมีความสุขมาก เพราะได้ไปรับพลังมาอย่างเต็มเปี่ยม
        แล้ว Introvert ล่ะอยู่ไหน เขาก็ไปงานปาร์ตี้ที่ว่านั่นเช่นกัน แต่การพบผู้คนมากหน้าหลายตา ต้องยิ้ม ต้องปฏิสัมพันธ์ ทำความรู้จักกับคนใหม่ๆ ที่ไม่เคยพบเจอมาก่อนในชีวิตเป็นสิ่งที่ใช้พลังเยอะมากสำหรับเขา ทั้งๆ ที่เขาทำได้และไม่ได้แสร้งทำด้วย แต่ยิ่งทำ พลังในร่างกายจะยิ่งหมดไป เพราะนั่นไม่ใช่วิธีชาร์จพลังของเขา
        การชาร์จพลังสำหรับ Introvert คือการได้อยู่กับตัวเอง อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เงียบสงบ ปลอดภัย คุ้นเคย แล้วใช้เวลาเหล่านั้นทบทวนใคร่ครวญกับความคิด ความรู้สึกของตน

"เพราะฉะนั้นการจะวัดว่าใครเป็น Introvert หรือ Extrovert ต้องดูที่วิธีการชาร์จพลังว่าเป็นอย่างไร ไม่ใช่ไปมองว่าเขามีลักษณะพฤติกรรมแบบไหน"
        ถ้าเขามีพลังจากการอยู่คนเดียวแสดงว่ามีโอกาสที่จะเป็น Introvert ส่วน Extrovert นั้น ถ้าเราจับเขาไปนั่งอยู่บนยอดเขานิ่งๆ คนเดียวเป็นเวลา 2 ชั่วโมง เขาจะรู้สึกเหมือนเป็นบ้า เรามาทำอะไรกันอยู่ที่นี่ มันไม่เห็นมีอะไรเลยบนนี้ ในขณะที่ Introvert จะบอกว่าบนนี้มีอะไรตั้งเยอะ ทั้งหมอก ทั้งเส้นขอบฟ้า ที่สำคัญ มันมีความเงียบสงบอันแสนมีค่า
        แต่ก็ไม่ใช่ว่า Introvert จะอยากอยู่คนเดียวเสมอไป พวกเขาสามารถอยู่กับสังคมได้เมื่อรู้สึกว่านี่คือสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับตน เพราะจริงๆ แล้ว Introvert ก็อยากสื่อสารเชื่อมต่อกับมนุษย์คนอื่นเช่นกัน แค่ไม่ใช่ในทุกรูปแบบ ทุกเมื่อ อย่างไร และกับใครก็ได้ แต่เป็นเฉพาะบางที่ บางคน บางรูปแบบเท่านั้น Introvert ก็คือมนุษย์ปกติที่เหงาเป็นและต้องการเพื่อนคุยอย่างคนทั่วไป แต่เขาจะรายละเอียดเยอะหน่อยเท่านั้นเอง บางครั้งเพื่อนของ Introvert จะพบว่าพวกเขาไม่ชอบรับโทรศัพท์ แต่จะสะดวกติดต่อผ่านข้อความมากกว่า หรือไม่ก็เจอหน้ากันไปเลย เพราะเขารู้สึกว่าเป็นสถานการณ์ที่ควบคุมได้และมีคุณค่ามากกว่า

Photo: IPS/UIG via Getty Images
        โมเดลการแบ่ง Introvert ของ Cheek ที่เรียกว่า STAR (มาจากตัวย่อของสี่ลักษณะ)ได้แก่
  • Social – Introvert จะไม่ชอบเข้างานสังคมที่มีคนมากๆ แต่จะชอบเข้าสังคมกับกลุ่มเพื่อนขนาดเล็ก หรืออยู่คนเดียว
  • Thinking –  Introvert ที่มีมาตรด้านนี้สูงจะชอบดำดิ่งกับความคิดของตนเอง Cheek เปรียบเทียบโดยใช้ตัวละครจากแฮร์รี่ พอตเตอร์ว่า “เขาจะมีความเป็นลูน่าร์ เลิฟกู้ด มากกว่าเนวิลล์ ลองบัตท่อม”
  • Anxious – Introvert ที่มีลักษณะนี้สูงจะคิดเรื่องเดิมวนซ้ำแล้วซ้ำเล่า และมักจะระมัดระวังการวางตัว (self conscious) มากๆ เวลาอยู่กับคนอื่น
  • Restrained – Introvert ที่มีลักษณะนี้สูงจะคิดก่อนทำหรือพูด และจะค่อยๆ ทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยการถือครองสติ
ข้อดีของ Introvert
แม้หลายครั้งคำว่า Introvert จะฟังดูลบ แต่ที่จริงก็มีข้อดี เช่น

1. ตอนประชุมงาน เราอาจเห็นคนแบบนี้นั่งเงียบ และไม่ใช่คนแรกๆ ที่จะแสดงความคิดเห็น เนื่องจากเขาจะคิดใคร่ครวญเยอะ จะค่อยๆ พิจารณาทั้งความคิดและความรู้สึกของตัวเองกว่าจะตัดสินใจพูดออกมาแต่ละอย่าง อาจใช้ตัวกรองหลายชั้น ฉะนั้น บางครั้ง Introvert อาจให้ความคิดเห็นลึกซึ้งในแง่มุมที่คนคิดไวไม่ทันฉุกคิด

2. เขามักไวต่อความรู้สึก อาจเรียกได้ว่าเซนสิทีฟหรืออะไรที่ใกล้เคียง จึงเป็นเหตุผลให้คนลักษณะนี้ไม่ค่อยชอบไปในที่ที่เสียงดังหรือคนเยอะๆ เช่น การไปคอนเสิร์ตนั้น ที่จริง Introvert ก็ไปได้ แต่พอผ่านไปสัก 2 เพลงเขาก็รู้สึกหมดพลังแล้ว เพราะรอบๆ ตัวมีความเคลื่อนไหววุ่นวายมากเกินไป เมื่อกลับถึงบ้านเขาจะรู้สึกเหมือนไปผ่านสนามรบมา

3. อยู่กับเขา เราอาจได้บทสนทนาที่ลึกซึ้ง เช่น เขาอาจถามเราว่าที่ผ่านมามีช่วงเวลาไหนที่ภาคภูมิใจในตัวเองบ้าง เล่าให้ฟังหน่อย เขาจะเอ็นจอยกับการคุยกันในลักษณะนี้มากกว่าบทสนทนาผิวเผินกับคนไม่คุ้นเคยอย่างที่เรียกว่า small talk
"อธิบายให้เห็นภาพง่ายๆว่า Extrovert มักจะพุ่งไปข้างหน้าในแนวระนาบ ส่วน Introvert มักจะค่อยๆลงลึกไปในแนวดิ่ง"

Introvert นำไปสู่การเป็นโรคอื่นได้หรือไม่
         หลายคนอาจรู้สึกว่าธรรมชาติ Introvert มักเป็นคนคิดมาก เลยมีคำถามต่อไปว่าแบบนี้จะมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้หรือไม่ คำตอบคือที่จริงแล้วไม่ว่าเราจะมีธรรมชาติแบบไหนก็สามารถเกิดภาวะเครียด วิตกกังวล หรือเศร้าได้พอๆ กัน เช่น Extrovert ก็อาจเครียดจากการหาอะไรเข้าตัวมากเกินไป หรือเกิดจากการวิ่งปะทะสิ่งต่างๆ มากเกินไปจนพอกพูนและตามจัดการไม่ทัน นี่ก็ทำให้เครียดเหมือนกัน
        สรุปว่าใครก็เครียดได้ แต่จะเครียดหนักหรือนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับวิธีจัดการของแต่ละคนมากกว่า บางคนเจอสิ่งกระตุ้นให้เกิดความเครียดเยอะมากในชีวิต แต่ถ้ามีวิธีจัดการความเครียดที่ดี ระบบระบายน้ำเสียของเขาทำงานดี เขาก็อาจจะเป็นคนที่มีสุขภาพจิตดีได้ ในขณะที่บางคนใช้ชีวิตชิลล์ แต่กลไกจัดการความเครียดแย่ คนนี้อาจเครียดกว่าคนแรกก็ได้


Introvert กับค่านิยมการกล้าแสดงออกในสังคมไทย


        หลายคนอาจถูกสอนมาตั้งแต่เด็กว่าต้องกล้าแสดงออกเท่านั้นถึงจะได้รับการยอมรับ สิ่งนี้ขัดกับลักษณะพื้นฐานของชาว Introvert อย่างยิ่ง ความ ‘ไม่ชอบแสดงออก’ (ซึ่งอาจไม่ได้แปลว่าไม่ ‘กล้า’ แสดงออก) กลายเป็นคำบ่งบอกลักษณะนิสัยที่ฟังดูติดลบกลายเป็นความผิดปกติ หรือกลายเป็นจุดด้อยอย่างไม่ค่อยจะยุติธรรมนัก 

        นอกจากนั้นสังคมไทยยังมักเป็นครอบครัวใหญ่ ในงานรวมญาติ ลูกหลาน Introvert อาจนั่งประคองหน้าตัวเองไม่รอด (อีกแล้ว) เพราะการต้องเจอคนจำนวนมากเช่นนี้เป็นเรื่องชวนเสียพลังงานมากจนเกินจะรับไหว ทั้งที่อาจไม่ได้รู้สึกเกลียดชังญาติคนใดเลยก็ตาม แต่ทันใดนั้น ลูกหลาน Introvert ผู้นี้ก็กลายเป็นแกะดำของครอบครัวไปอย่างไม่ค่อยจะยุติธรรมเท่าไร (อีกครั้ง)

        จึงนับเป็นโชคดีและความน่าโล่งใจที่ในที่สุดก็มีงานวิจัยทางจิตวิทยาออกมาอธิบายอาการเช่นนี้เสียทีว่าเป็นเพียงลักษณะปกติแบบหนึ่งของมนุษย์ ไม่ใช่สิ่งที่ต้องให้หมอรักษาด้วยการใช้ไฟฟ้าช็อตหรือวิธีน่ากลัวอื่นๆ แต่อย่างใด




ชอบอยู่คนเดียว ไม่ยุ่งกับใคร เรียกว่าเป็นIntrovertไหม แล้วใช่โรคที่ต้องรักษาหรือเปล่า?






อ้างอิง : https://thestandard.co/podcast/ruok03/
             https://thematter.co/thinkers/introvert/25763

เรื่องน่ารู้ 9 ข้อเกี่ยวกับ Extrovert

        หลายคนเมื่อพูดถึง Extrovert ก็มักพ่วงด้วยภาพของคนที่ชอบไปงานปาร์ตี้สังสรรค์ รู้จักคนเยอะ คอนเน็กชันเพียบ ซึ่งก็ไม่ใช่ความจริงเสียทั้งหมด จริงๆ Extrovert เป็นคนแบบไหน มีข้อดีข้อเสียอย่างไร เพราะ Introvert และ Extrovert ต่างเป็นมนุษย์ที่ต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

เรื่องน่ารู้ 9 ข้อเกี่ยวกับ Extrovert

  1. Introvert กับ Extrovert ให้วัดกันที่วิธีชาร์จพลัง
        คนส่วนใหญ่มีภาพจำและเหมารวมว่าคนที่เป็น Introvert มักเก็บตัว ชอบอยู่คนเดียว ส่วน Extrovert เป็นคนกล้าแสดงออก เป็นจุดสนใจ และพบปะสังสรรค์กับคนอื่นตลอดเวลา ซึ่งไม่ใช่ความจริงทั้งหมด เพราะการจะวัดว่าใครมีบุคลิกภาพแบบไหนให้วัดกันที่ การชาร์จพลัง ถ้ามีพลังด้วยการอยู่คนเดียวหรือกับคนไม่กี่คนที่รู้สึกไว้ใจก็อาจมีแนวโน้มที่จะมีบุคลิกภาพ Introvert ส่วนใครรู้สึกว่าการได้เจอเพื่อน สังคมใหม่ หรือการอยู่ในที่ที่มีคนเยอะแล้วรู้สึกว่าพลังงานไหลเวียน ก็มีแนวโน้มว่ามีบุคลิกภาพแบบ Extrovert ได้
        ฉะนั้นการเหมาว่าคนที่อยู่ในปาร์ตี้คือคนที่เป็น Extrovert เท่านั้นอาจกว้างเกินไป เพราะในปาร์ตี้หนึ่งอาจมี Introvert อยู่ด้วยก็ได้ ถ้าคนกลุ่มนั้นอยู่ด้วยแล้วสบายใจ แต่ในระยะเวลาไม่นานก็จะรู้สึกหมดพลัง ซึ่งในทางตรงกันข้าม Extrovert จะรู้สึกว่าที่นั่นเป็นที่ของเขา รู้สึกเป็นหนึ่งเดียวแม้ว่าจะมาเป็นครั้งแรก

  1. Extrovert สามารถอยู่คนเดียวได้
        ถ้าเพิ่งรู้จักใครในช่วงสั้นๆ หรือเห็นใครไปไหนมาไหนคนเดียวบ่อยๆ อย่าเพิ่งตัดสินว่าคนคนนั้นเป็น Introvert เพราะ Extrovert ก็สามารถอยู่คนเดียวได้เหมือนกัน เพียงขณะนั้นเขาอาจมีเหตุให้ต้องไปไหนมาไหนคนเดียว อาจอยากอยู่คนเดียวสักพัก เพิ่งอกหักมา ไม่อยากเจอหน้าใคร อย่าลืมว่า Extrovert ก็เป็นเพียงมนุษย์ที่เมื่อเจอเหตุการณ์ต่างๆ ก็สามารถทำตามอารมณ์ความรู้สึกตัวเอง ไม่ใช่เอะอะจะพุ่งไปปาร์ตี้หรืออยู่กับคนหมู่มากเสมอไป

  1. Extrovert ไม่ใช่คนฉาบฉวย พูดไม่คิด
        หลายครั้งที่เรามักได้ยินว่าคนที่เป็น Extrovert จะถนัดแสดงความรู้สึกผ่านการพูดมากกว่าคิด นั่นคือเรื่องจริง เพราะ Extrovert จะไม่ใช่คนที่ใช้เวลาการคิดนาน การพูดจึงเป็นการสื่อสารที่สะดวกกว่า การสื่อสารแบบนี้เรียกกันว่า ‘Small Talk’ เป็นการสนทนาเพียงแค่ใคร ทำอะไร ที่ไหน ต่างกับ Introvert ที่ส่วนใหญ่จะเป็นการสื่อสารแบบ ‘Deep Conversation’ หรือการสื่อสารในเชิงความรู้สึกนึกคิด ซึ่งการสื่อสารทั้ง 2 แบบต่างมีข้อดีข้อเสียในตัวเอง
        ลองนึกถึงออฟฟิศที่มีคน Extrovert คนกลุ่มนี้จะช่วยให้คนที่อยู่ห่างๆ กันเชื่อมโยงเข้าด้วยการ ‘Small Talk’ สั้นๆ เช่น ตอนเช้ามาทำงานอย่างไร กินอาหารเช้าหรือยัง เปียกฝนไหม การสื่อสารที่ไม่ได้ลึกแต่แตะไปทั่วๆ แบบนี้จะทำได้กว้างและทำให้รู้สึกว่าทุกคนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือไม่ก็ลองนึกภาพเวลาเราไปทริปต่างจังหวัดกับเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้สนิทกันทุกคน Extrovert จะทำหน้าที่เชื่อมทุกคนไว้อย่างหลวมๆ ชวนให้คนที่เข้าสังคมไม่เก่งรู้สึกวางใจและผสมกลมกลืนกันได้โดยไม่ประดักประเดิดเกินไปนัก

  1. Extrovert ไม่ใช่คนไม่จริงใจ
การที่ Extrovert ชอบอยู่ท่ามกลางคนจำนวนมาก เลยดูว่าคนเหล่านี้รู้จักคนเยอะ หลายคนจึงรู้สึกไปว่า Extrovert เป็นคนไม่จริงใจ เหมือนเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ ซึ่งไม่ได้เป็นความจริงเสมอไป อย่างที่กล่าวไปในข้อแรกว่า Extrovert เป็นคนที่ชาร์จพลังเมื่ออยู่กับคน จึงเป็นผลพลอยได้ที่จะทำให้มีคอนเน็กชันเยอะตามมาด้วย ซึ่งคือคนละเรื่องกับความจริงใจ เพราะไม่ว่าจะมีบุคลิกภาพแบบไหนต่างก็ต้องการความจริงใจเป็นพื้นฐานความสัมพันธ์อยู่เสมอ

  1. Extrovert ไม่ใช่คนกล้าแสดงออก มีภาวะผู้นำ หรือแก้ปัญหาได้เก่งเสมอไป
        การที่ใครสักคนจะกล้าแสดงออก มีภาวะผู้นำ หรือแก้ปัญหาต่างๆ ได้เก่งนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยทักษะและการฝึกฝนก็สามารถทำสิ่งนั้นๆ ให้ดีได้ เราจึงได้เห็น Introvert บางคนลุกขึ้นมาโต้คารมบนเวทีหรือแสดงความสามารถต่างๆ ในที่สาธารณะ เพียงแค่เมื่อเขาลงจากเวทีแล้วอาจรู้สึกหมดพลังเหมือนกับสู้รบปรบมือกับอะไรสักอย่างมาและ Extrovert ก็ไม่ได้มีภาวะผู้นำเสมอไป เพราะ Extrovert บางคนอาจชอบเป็นผู้ตามและได้อยู่กับคนหมู่มาก รู้สึกพลังงานไหลเวียนกว่าการที่จะไปยืนอยู่คนเดียวหรือรับผิดชอบอะไรที่ยิ่งใหญ่ก็เป็นได้

Image result for leader person

  1. Extrovert แต่ละคนไม่เหมือนกัน
        จากสถานการณ์ในข้อ 5 จะเห็นว่าแม้แต่คนที่มีบุคลิกภาพแบบ Extrovert เองก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ลองนึกภาพว่าโลกใบนี้ที่บรรจุคนนับล้านแล้วแบ่งคนออกเป็น 2 ประเภทว่าเป็น Introvert หรือ Extrovert เพียงแค่ 2 แบบนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะมนุษย์ทุกคนมีความแตกต่างกัน แม้จะมีบุคลิกภาพเหมือนกัน แต่ก็มีประสบการณ์ในชีวิตหรือวิธีการมองโลกที่ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นอย่าเพิ่งตัดสินว่าถ้าเขาดูมีบุคลิกภาพแบบ Extrovert แล้วจะต้องเป็นอย่างที่เราคิดเสมอไป

  1. ทุกบุคลิกภาพจะมีพื้นที่ในสังคมเป็นของตัวเอง
        หน้าที่การงานของ Extrovert เอื้อให้ต้องติดต่อประสานงานกับคนอื่นๆ เช่น พนักงานห้างสรรพสินค้า, เซล, เออี, พนักงานต้อนรับของโรงแรม, งานประชาสัมพันธ์ ฯลฯ งานเหล่านี้จะทำให้ Extrovert ได้ใช้ทักษะของตัวเองอย่างเต็มที่ ทั้งการพูดคุยกับคนที่เพิ่งรู้จักด้วยความอบอุ่น การชวนคุย สร้างความไว้ใจ ซึ่ง Introvert ก็สามารถทำงานเหล่านี้ได้เหมือนกัน เพียงแต่ลักษณะของงานจะขัดกับธรรมชาติของบุคลิกภาพตัวเอง เมื่อทำงานเสร็จอาจรู้สึกว่าใช้พลังงานมากกว่าปกติ ดังนั้นการเลือกวิถีชีวิตให้เหมาะกับตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ


  1. แม้เราจะมีบุคลิกภาพหลักเป็น Extrovert แต่ก็มีความเป็น Introvert ในตัว
        ถ้านึกดูดีๆ ไม่มีมนุษย์คนไหนที่อยากออกไปเจอผู้คนตลอดเวลา และไม่มีใครอยากอยู่คนเดียวเสมอไป เท่ากับว่าในคนคนหนึ่งต่างมีความเป็น Extrovert และ Introvert อยู่ในตัวเอง เพียงแต่จะมีบุคลิกภาพหลักที่เห็นเด่นชัดได้กว่าอย่างอื่น เพราะฉะนั้นแล้วคนเป็น Extrovert ก็สามารถเข้าใจคนที่เป็น Introvert ได้ว่าการอยู่คนเดียวเงียบๆ หรือการท่องเที่ยวไปในธรรมชาตินิ่งๆ ก็สามารถมีความสุขได้
"ถ้าจะเปรียบให้เห็นภาพ ไม่มีมนุษย์คนไหนดำและขาวอย่างสุดโต่ง ทุกคนต่างเป็นสีเทา เพียงแต่จะเฉดไปทางไหนมากกว่ากันเท่านั้นเอง"

  1. ในฐานะมนุษย์ เราสามารถปรับ แต่ง ลด เพิ่ม ทุกพฤติกรรมได้ถ้าเราอยากทำ
        มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะมีบุคลิกภาพแบบไหนก็สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองได้ Introvert เองก็สามารถเรียนรู้ทักษะการพูดคุยและเชื่อมสัมพันธ์ของ Extrovert ได้ ในขณะเดียวกัน Extrovert ก็สามารถเรียนรู้ทักษะในการพูดคุยกับคนอื่นในเชิงลึกมากขึ้นได้ แต่ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่ฝืนตัวเองมากเกินไปนัก เพราะอย่างน้อยที่เรามีทักษะดีๆ อยู่ในชีวิตก็เป็นเรื่องดี ที่สำคัญจะทำให้เราเข้าใจและปฏิบัติต่อคนรอบข้างได้อย่างเหมาะสม



Extrovert ไม่ใช่คนพูดไม่คิดหรือเอะอะก็ปาร์ตี้ แต่เป็นคนที่มีข้อดีและคูลได้เหมือนกัน 




อ้างอิง : https://thestandard.co/podcast/ruok23/

ถ้าสงสัยว่าตัวเองเป็นคนแบบไหน

        ลองสำรวจตัวเองคร่าวๆ แล้วพบว่า ด้วยพื้นฐานเราเป็นคนที่มีความสุขกับคนกลุ่มเล็กๆ แต่ในขณะเดียวกันเมื่อต้องทำงานกับคนหมู่มากก็สามารถทำได้ดี จึงเริ่มสับสนว่าตกลงเราชอบหรือไม่ชอบอยู่กับผู้คนกันแน่ บุคลิกภาพสลับไปมาแบบนี้เรียกว่าผิดปกติไหม
        ตอบได้เลยว่านี่ไม่ใช่อาการที่ต้องพบแพทย์ เพราะไม่ว่าพื้นฐานเราจะเป็นคนอย่างไรก็ตาม เมื่อหน้าที่หรือบทบาทเรียกร้อง เช่น ในเวลาทำงาน หากเราสามารถยืดหยุ่นบุคลิกภาพของตนเองเพื่อปฏิบัติบางภารกิจในยามจำเป็นยิ่งเรียกว่าเป็นเรื่องดี และเมื่อหมดบทบาทหน้าที่ก็ค่อยกลับมาเป็นตัวของตัวเอง แบบนี้ถือว่ารู้จักวางตัวและปรับตัว เป็นมืออาชีพ มีความเป็นผู้ใหญ่ ไม่ใช่ความแปรปรวนหรือผิดปกติทางบุคลิกภาพแต่อย่างใด
        แต่ถ้าทำอย่างนี้มากๆ เข้าแล้วรู้สึกเหนื่อยเกินไปก็ให้ลองถามตัวเองดูว่าเราจะประคับประคองตัวเองอย่างไรให้อยู่รอดทางอารมณ์และจิตใจไปนานๆ


ไปทดสอบกันว่าคุณเป็น Introvert หรือ Extravert ระดับไหนได้ที่ลิ้งค์ด้านล่างนี้    http://www.quietrev.com/the-introvert-test/


อ้างอิง : https://thestandard.co/podcast/ruok03/
             https://thematter.co/thinkers/introvert/25763

ความแตกต่างของ Introvert และ Extrovert

        ความแตกต่างของ Introvert และ Extravert นั้นมีผู้อธิบายว่าจริงๆ แล้วเป็นความแตกต่างในระดับสมองเลยทีเดียว คำอธิบายหนึ่งบอกว่า Introvert กับ Extravert มีระดับการตอบสนองต่อ Dopamine และ Acetylcholine (สารเคมีที่มักถูกเชื่อมโยงกับความสุข) ที่แตกต่างกัน เขาบอกว่า Introvert นั้น ‘ชอบ’ Acetylcholine มากกว่า Dopamine และ Acetylcholine นั้นจะทำให้เรารู้สึกดีเมื่อเราค้นหาความสุขจากภายใน (Turn Inward) ส่วน Dopamine นั้นทำให้เราค้นหาความสุขจากภายนอก (เช่นได้เงิน, ไต่ระดับความสำเร็จทางสังคม หรือเมื่อมีคนที่เราชื่นชอบมาสนใจเรา) 
        นอกจากการแบ่งที่ซับซ้อนขึ้นเป็นสเปกตรัมแล้ว ในปัจจุบันยังมีคำอื่นๆ ที่ชวนงงงวยขึ้นอีก อย่างเช่นคำว่า Extraverted Introvert ซึ่งมีคนนิยามว่าเป็น Introvert ที่สามารถ ‘เปิดโหมด’ Extravert ได้ แต่ก็ใช้ได้อย่างจำกัด คือสามารถปาร์ตี้ได้นะ แต่ก่อนออกไปปาร์ตี้ต้อง ‘ทำใจ’ หรือ ‘เตรียมใจ’ ก่อน แล้วพอเปิดโหมดแล้ว พอหมดพลังงานเมื่อไหร่ก็พร้อมที่จะหนีกลับบ้านได้ทันที เป็นต้น

Introvert กับ Extrovert อยู่ร่วมกันได้หรือไม่

แท้ที่จริงแล้วมนุษย์แต่ละคนสามารถจะมีบางภาวะเป็น Introvert และบางภาวะเป็น Extrovert เหมือนเฉดสีของรุ้งที่เชื่อมและเหลื่อมกัน ไม่ได้แยกออกจากกันแบบเด็ดขาด จนบางทีฟันธงไม่ได้ว่าเป็นแบบไหน หรือบางคนอาจมีลักษณะของทั้งสองอย่างในสัดส่วนใกล้เคียงกันในร่างเดียว อย่างที่เรียกว่า Ambivert ก็มี


เมื่อเกิดเหตุการณ์ขัดแย้งระหว่างตัวเราและคนรอบข้างที่มีลักษณะพื้นฐานไม่เหมือนกัน ลองทำตามวิธีนี้

1. อย่าเพิ่งตัดสินหรือหาคำตอบว่าเขาทำอย่างนั้นไปทำไม
เช่น ถ้าเพื่อน Introvert ของเราไม่รับโทรศัพท์ หรือไลน์ไปก็อ่านข้อความ แต่ไม่ยอมตอบ ก็อย่าเพิ่งไปรีบคิดว่า ‘ไม่อยากคุยกับเราหรือ’ เพราะที่จริงแล้วอาจไม่มีอะไรเลย แค่ธรรมชาติและจังหวะในการตอบสนองต่อสิ่งที่เข้ามาของเขาแตกต่างกับของเราก็เท่านั้นเอง

2. ลองจินตนาการถึงความสุขอีกแบบหนึ่งที่เคยมี
เช่น ถ้า Introvert อยากเข้าใจ Extrovert ก็ลองนึกถึงความสุขของตัวเองที่ได้จากบางโมเมนต์ในอดีตตอนพบปะผู้คนมากมาย (มันต้องมีสักครั้งในชีวิตใช่ไหม) หรือถ้า Extrovert อยากเข้าใจ Introvert ก็ให้ลองนึกถึงตัวเองในวันที่พลังหมด ไม่อยากคุยกับใคร และมีความสุขมากตอนได้อยู่เงียบๆ คนเดียว (เช่นกัน มันต้องมีสักครั้งในชีวิตใช่ไหม) ถ้าเราจำความรู้สึกของช่วงเวลาเหล่านั้นได้ เราก็มีโอกาสเข้าใจอีกฝ่ายมากขึ้น

3. ให้เวลากันและปรับจังหวะเข้าหากัน
จังหวะชีวิตของ Introvert อาจไม่รวดเร็วเร้าใจเท่า Extrovert เวลาอยู่กับเขา เราก็ต้องปรับจังหวะให้ช้าลงสักหน่อย และใช้ช่วงเวลาคุณภาพด้วยกันแบบลงลึกมากขึ้นอีกนิด

อ้างอิง : https://thematter.co/thinkers/introvert/25763
             https://thestandard.co/podcast/ruok03/

โลกนี้มีมากกว่า Introvert-Extrovert

       อันที่จริงแล้วการแบ่งคนเป็นประเภทๆ นั้นถึงแม้ในปัจจุบันอาจถูกมองว่าเป็นการทำให้โลกที่ความจริงแล้วซับซ้อน ลดรูปลงจนง่ายดายเกินไป แต่การแบ่งคนแบบนี้ ก็ยังมีประโยชน์ในการทำให้เราเข้าใจแนวคิดเบื้องต้น ก่อนที่เราจะยอมรับความซับซ้อนของโลก และเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงโมเดลพื้นฐานในภายหลัง
        แนวคิดเรื่องการแบ่งคนเป็น Introvert-Extrovert นั้นสามารถสืบสาวไปได้ถึงนักจิตวิทยาชื่อดังอย่างคาร์ล จุง โดยง่ายที่สุด เราอาจแยก Introvert เป็นคนที่มักถูกมองว่ารักษาเนื้อรักษาตัว (Reservedคนที่ค่อนข้างระวังคำพูดคำจา) และนิ่งลึก (Reflective) ในขณะที่ Extroverts มักถูกมองว่าพูดเก่ง (talkative) ชอบปฏิสัมพันธ์ และมีกระตือรือร้น(enthusiastic) กว่า


         การแบ่งคนสองประเภทนี้มักถูกโยงไปถึง ‘การชาร์จพลังงาน​‘ โดยอธิบายว่า Introvert นั้นจะ ‘ชาร์จพลังงาน’ ได้จากการอยู่คนเดียว การทำกิจกรรมเงียบๆ อย่างเช่นการอ่านหนังสือ การเขียน การตกปลา เดินป่า ฯลฯ (ถ้าทำกิจกรรมพวกนี้แล้วพวกเขาจะมีพลังงานไปทำอย่างอื่นมากขึ้น) ในขณะที่ Extrovert จะชาร์จพลังงานได้จากการทำกิจกรรมกับคนอื่น การปาร์ตี้ สังสรรค์ ฯลฯ
         เดิมที Introvert-Extravert นั้นถูกมองว่าแยกขาดออกจากกัน คุณจะต้องเป็น Introverts หรือ Extravert อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่หลังๆ มา เริ่มมีการมองที่ซับซ้อนกว่านั้น โดยมองว่า Introvert-Extravert นั้นเป็นเหมือนสเปกตรัม คุณอาจมีความเป็น Introvert มากกว่า Extravert  (แต่ไม่ได้แปลว่าคุณเป็น Introvert โดยสมบูรณ์เสมอไป) ในการแบ่งแบบนี้จะเรียกคนที่อยู่กลางๆ สเปกตรัมว่า Ambivert คือคนที่มีคุณลักษณะของทั้ง Introvert และ Extravert ผสานกัน


อ้างอิง : https://thematter.co/thinkers/introvert/25763